audit
Custom Search

::: ::: จุดประสงค์ของการจัดทำบล็อกขึ้นมา เพื่อให้ผู้ที่สนใจ หรือ กำลังเข้าสอบ Tax audit ของ กรมสรรพกร จะได้มีแหล่งหาข้อมูล เพื่อใช้ในการสอบมากขึ้น เพราะทางผู้จัดทำได้ เห็นว่าปัจจุบัน ในการค้นหา ข้อมูลที่จะใช้ในการสอบ นั้น มีน้อยมาก ยิ่งผู้ที่สอบส่วนใหญ่จะเป็นคนทำงาน และ ไม่ค่อยมีเวลาเท่าไหร่นัก ผู้จัดทำจึง ทำบล็อกนี้ขึ้นมา เพื่อรวบรวมข้อมูลที่ใช้ในการทดสอบ ตั้งแต่คุณสมบัติของผู้เข้าสอบ วิชาที่ทำการสอบ โดยเฉพาะ ตัวอย่างแนวข้อสอบ ที่ผู้จัดทำ จะพยายาม หามาให้มากที่สุด เพื่อทุกท่านจะได้ใช้ในการทบทวน การสอบแต่เนิ่นๆ และยินดีรับฟัง ข้อเสนอแนะทุกท่าน เพื่อพัฒนาบล็อกแห่งนี้ ให้เกิดประโยชน์แก่ทุกท่านให้มากที่สุด โดยเสนอความเห็นตามคอมเม้นได้เลยครับ ... ผู้จัดทำหวังว่า บล็อกนี้จะเป็นประโยชน์ กับทุกท่านนะครับ ขอให้โชคดีในการสอบทุกครั้งครับ ...

การทดสอบรายการทางบัญชีและภาษีอากร

วัตถุประสงค์

แนวทางการปฏิบัติงาน เรื่อง “การทดสอบรายการทางบัญชีและภาษีอากร” ที่กำหนดขึ้นนี้ เพื่อให้ผู้สอบบัญชีภาษีอากรใช้เป็นแนวทางประกอบการปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชีห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรฐานการปฏิบัติงานที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.122/2545 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติงานและการรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2545

การตรวจสอบและรับรองบัญชี

การตรวจสอบและรับรองบัญชีของผู้สอบบัญชีภาษีอากรตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สอบบัญชีภาษีอากรได้มาซึ่งหลักฐานประกอบรายการที่ปรากฏในงบการเงิน เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบว่าถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญ เป็นไปตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปหรือไม่ รวมถึงการตรวจสอบความถูกต้องในส่วนที่เป็นสาระสำคัญทางด้านภาษีอากรตาม ประมวลรัษฎากร

หลักฐานการตรวจสอบและรับรองบัญชี

1. ความหมายของหลักฐานการตรวจสอบและรับรองบัญชี
หลักฐานการตรวจสอบและรับรองบัญชี หมายถึง ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงซึ่งผู้สอบบัญชีภาษีอากรได้รับ ซึ่งประกอบด้วย หลักฐานทางบัญชี และหลักฐานประกอบต่าง ๆ รวมถึงหลักฐานทางด้านภาษีอากรของกิจการ
ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องได้มาซึ่งหลักฐานการตรวจสอบและรับรองบัญชีที่เพียงพอและเหมาะสม โดยการทดสอบความถูกต้องของรายการบัญชี และการตรวจสอบความถูกต้องทางด้านภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร เพื่อให้สามารถทราบผลการตรวจสอบและรับรองบัญชี รวมถึงใช้เป็นหลักฐานประกอบรายการที่ปรากฏในงบการเงิน

1.1 ความเพียงพอและเหมาะสมของหลักฐานการตรวจสอบและรับรองบัญชี
ความเพียงพอ หมายถึง ปริมาณของหลักฐานที่ได้จากการตรวจสอบ ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าจะต้องหาหลักฐานเป็นจำนวนมากน้อยเพียงใด ซึ่งในบางครั้งหลักฐานเพียงชนิดเดียวไม่สามารถใช้พิสูจน์ความถูกต้องของรายการได้ทุกด้าน
ความเหมาะสม หมายถึง คุณภาพหรือความเชื่อถือได้ของหลักฐานการตรวจสอบและรับรองบัญชี รวมถึงความถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริงของหลักฐาน ดังนั้น ความเหมาะสมของหลักฐานการตรวจสอบและรับรองบัญชี จึงประกอบด้วย

(1) คุณภาพของหลักฐานการตรวจสอบและรับรองบัญชี

(2) ความเกี่ยวข้องกันระหว่างหลักฐานการตรวจสอบและรับรองบัญชีกับสิ่งที่ผู้บริหารได้ให้การรับรองไว้ นอกจากนี้หลักฐานการตรวจสอบและรับรองบัญชียังต้องมีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับวัตถุประสงค์ของการตรวจสอบที่ต้องการทดสอบ

(3) ความเชื่อถือได้ของหลักฐานการตรวจสอบและรับรองบัญชี ซึ่งขึ้นอยู่กับแหล่งที่ได้มาของหลักฐาน ลักษณะหรือวิธีการของการได้มาซึ่งหลักฐาน ระยะเวลาที่ได้รับหลักฐาน และหลักฐานที่ได้มานั้นต้องเป็นหลักฐานที่เน้นรูปธรรมชัดเจน การประเมินความเชื่อถือได้ของหลักฐานการตรวจสอบและรับรองบัญชีขึ้นอยู่กับแต่ละสถานการณ์

1.2 องค์ประกอบในการพิจารณาความเพียงพอและเหมาะสม
สำหรับองค์ประกอบที่ใช้ในการพิจารณาถึงความเพียงพอและเหมาะสมของหลักฐานการตรวจสอบและรับรองบัญชี มีดังนี้
(1) ระดับความเสี่ยงเกี่ยวกับความผิดพลาดของข้อมูลและรายการซึ่งมีผลกระทบจาก

(ก) ลักษณะของข้อมูลและรายการ

(ข) ลักษณะของธุรกิจที่ดำเนินการอยู่

(ค) ฐานะการเงินของกิจการ

(ง) สถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดความผิดปกติในการบริหาร

(2) ลักษณะของระบบบัญชี

(3) ความมีสาระสำคัญของข้อมูลและรายการที่มีต่องบการเงินโดยรวม และต่อการเสียภาษีอากรของกิจการ

(4) ประสบการณ์ที่ได้จากการตรวจสอบครั้งก่อน ๆ

(5) ผลของการตรวจสอบตลอดจนการทุจริตและข้อผิดพลาดที่ตรวจพบ

(6) แหล่งที่มาและความเชื่อถือได้ของข้อมูลที่มีอยู่

2. การรวบรวมหลักฐานการตรวจสอบและรับรองบัญชี
ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องรวบรวมหลักฐานการตรวจสอบและรับรองบัญชี เพื่อทำการทดสอบความถูกต้องของรายการและยอดคงเหลือในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

2.1 ความมีอยู่จริง เพื่อให้ทราบว่าสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของผู้เป็นหุ้นส่วนที่ปรากฏในงบการเงินนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ รวมถึงผู้ออกใบกำกับภาษีซื้อให้กับกิจการมีตัวตนจริงหรือไม่

2.2 สิทธิและภาระผูกพัน เพื่อให้ทราบแน่ชัดว่าสินทรัพย์ตามที่ปรากฎในงบการเงินเป็นกรรมสิทธิ์ของกิจการ และหนี้สินเป็นภาระความรับผิดชอบของกิจการ กล่าวคือ หนี้สินที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจมิใช่หนี้สินส่วนบุคคล

2.3 เกิดขึ้นจริง เพื่อให้ทราบว่ารายได้ ค่าใช้จ่าย กำไรหรือขาดทุนเกิดขึ้นจริง และรายการที่ปรากฏในงบการเงินไม่ได้รวมรายการที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงอยู่ด้วย รวมถึงรายการตามใบกำกับภาษีซื้อที่กิจการได้รับเป็นรายการที่เกิดขึ้นจริง

2.4 ความครบถ้วน เพื่อให้ทราบว่ารายการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น กิจการได้นำมาลงบัญชี นำมาจัดทำบัญชีพิเศษ นำมาจัดทำรายงานทางด้านภาษีต่าง ๆ ตามประมวลรัษฎากรโดยถูกต้องและครบถ้วนแล้ว รวมถึงการออกใบกำกับภาษีของกิจการว่ามีรายการครบถ้วนตามประมวลรัษฎากรหรือไม่

2.5 การแสดงมูลค่า เพื่อให้ทราบว่า สินทรัพย์และหนี้สิน รวมถึงรายได้และค่าใช้จ่ายได้บันทึกบัญชีไว้ในราคาหรือจำนวนเงินที่เหมาะสมตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป และบันทึกไว้ในบัญชีที่ถูกต้องตรงตามงวดบัญชี

2.6 การแสดงรายการและการเปิดเผยข้อมูลของงบการเงิน เพื่อให้ทราบว่ารายการในงบการเงินได้แสดงรายการบัญชี และเปิดเผยข้อมูลไว้โดยถูกต้อง เหมาะสม เพียงพอตามหลักการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป และเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบัญชี

การทดสอบ

การทดสอบ หมายถึง การเลือกรายการบัญชีหรือรายการจากยอดคงเหลือของสินทรัพย์และหนี้สิน รวมถึงรายการทางด้านภาษีอากรมาตรวจสอบ โดยใช้วิธีการตรวจสอบที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ของการตรวจสอบ ซึ่งในการเลือกรายการดังกล่าว ผู้สอบบัญชีภาษีอากรสามารถเลือกใช้วิธีดังต่อไปนี้

วิธีที่ 1 การเลือกตัวอย่างที่เป็นตัวแทนประชากร

วิธีที่ 2 การเลือกตัวอย่างแบบเจาะจง ได้แก่

(1) รายการที่มีจำนวนเงินเป็นสาระสำคัญ

(2) รายการที่มีความเสี่ยงสูงต่อการผิดพลาดหรือจากการทุจริต

(3) รายการที่มีลักษณะผิดปกติหรือที่น่าสงสัย

(4) รายการที่ต้องการความมั่นใจสูงว่าถูกต้องและเป็นจริง

ขนาดตัวอย่าง

ขนาดตัวอย่างของรายการทั้งหมดในแต่ละกิจการนั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้สอบบัญชีภาษีอากรว่ากิจการที่รับตรวจสอบรายนั้นจะกำหนดขนาดตัวอย่างเท่าใด โดยอาศัยการพิจารณาลักษณะของการประกอบกิจการ ข้อมูลต่าง ๆ ที่ผู้สอบบัญชีภาษีอากรพบในขั้นตอนการจัดทำแนวทางการสอบบัญชี รวมถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ที่พบระหว่างทำการตรวจสอบ
ในการเลือกตัวอย่างตามวิธีที่ 1 หรือวิธีที่ 2 เพื่อนำมาตรวจสอบนั้น ขนาดตัวอย่างที่เลือกมาจะต้องมีจำนวนมากพอที่จะทำให้สิ่งที่ตรวจพบสะท้อนภาพรวมของเรื่องที่ทดสอบได้ โดยอย่างน้อยที่สุดควรมี จำนวน ดังนี้

1. กรณีที่เป็นรายการบัญชีรับ – จ่าย บัญชีซื้อ – ขาย และเรื่องอื่น ๆ ที่มีรายการเป็นจำนวนมาก ให้เลือกรายการเพื่อตรวจสอบอย่างน้อย 20 รายการของแต่ละบัญชี

2. กรณีการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ การขอข้อมูลธนาคาร ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องดำเนินการทุกรายการ

3. การยืนยันยอดเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ ให้ยืนยันยอดเจ้าหนี้หรือลูกหนี้รวมมูลค่าหนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของมูลค่าหนี้ทั้งหมด

4. การยืนยันการออกใบกำกับภาษี ให้ยืนยันการออกใบกำกับภาษีซื้อฉบับที่มีมูลค่าสูงสุด 20 ลำดับแรกของรายงานภาษีซื้อ และจะต้องไม่เป็นใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ประกอบการรายเดียวกัน

5. กรณีเข้าสังเกตการณ์การตรวจนับสินค้าคงเหลือ ต้องสังเกตการณ์การตรวจนับสินค้าคงเหลือรวมมูลค่าไม่น้อยว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าสินค้าคงเหลือทั้งหมด

อย่างไรก็ตามหากจำนวนรายการของกิจการในเรื่องนั้น ๆ มีจำนวนรายการน้อย และมีสาระสำคัญค่อนข้างมาก ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องทำการตรวจสอบทุกรายการ

วิธีการทดสอบ

1. การทดสอบระบบบัญชี
เนื่องจากมาตรฐานการปฏิบัติงานที่กรมสรรพากรกำหนดไว้ตามข้อ 2.1.3 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.122/2545ฯ ให้ผู้สอบบัญชีภาษีอากรเน้นทดสอบการบันทึกบัญชีของกิจการว่าเป็นไปตามหลักการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไปหรือไม่ ดังนั้น ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจึงต้องทำการทดสอบระบบบัญชีของกิจการ เพื่อให้แน่ใจว่าการบันทึกบัญชีของกิจการเป็นไปตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป และนโยบายการบัญชีที่กิจการเลือกใช้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี

2. การทดสอบเนื้อหาสาระ
ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องทดสอบเนื้อหาสาระของรายการและยอดคงเหลือของกิจการเพื่อให้แน่ใจว่า รายการบัญชีและยอดคงเหลือของสินทรัพย์และหนี้สิน รวมถึงรายการทางด้านภาษีอากรถูกต้อง ซึ่งวิธีการทดสอบเนื้อหาสาระประกอบด้วยวิธีดังต่อไปนี้
2.1 การวิเคราะห์เปรียบเทียบ
การวิเคราะห์เปรียบเทียบ หมายถึง การวิเคราะห์อัตราส่วนและแนวโน้มต่าง ๆ ที่สำคัญ รวมถึงการตรวจสอบผลของการเปลี่ยนแปลงและความสัมพันธ์ที่ไม่สอดคล้องกับข้อมูลที่เกี่ยวข้องหรือไม่เป็นไปตามที่คาดหมาย ซึ่งผู้สอบบัญชีภาษีอากรสามารถเลือกวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(1) เปรียบเทียบข้อมูลทางการเงินของปีปัจจุบันกับปีก่อน
(2) ศึกษาความสัมพันธ์ของข้อมูลทางการเงินกับเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้จากประสบการณ์
(3) เปรียบเทียบข้อมูลทางการเงินกับข้อมูลของธุรกิจอื่นที่ประกอบธุรกิจประเภทเดียวกัน
(4) ศึกษาความสัมพันธ์ของข้อมูลทางการเงินกับข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกัน

2.2 การทดสอบรายละเอียดของรายการและยอดคงเหลือ
การทดสอบรายละเอียดของรายการและยอดคงเหลือ หมายถึง การนำวิธีการตรวจสอบต่างๆ มาใช้ในการรวบรวมหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ความถูกต้องของรายการที่บันทึกไว้ในบัญชี และยอดคงเหลือในบัญชี ตลอดจนความถูกต้องทางด้านภาษีอากรของกิจการ ซึ่งวิธีการตรวจสอบมีด้วยกันหลายวิธี การเลือกใช้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและรายการที่ตรวจสอบนั้น เช่น
(1) การตรวจนับ
(2) การขอยืนยันข้อมูลจากภายนอก
(3) การสังเกตการณ์
(4) การตรวจสอบเอกสารหลักฐาน
(5) การตรวจสอบการคำนวณ
(6) การสอบถาม
แต่อย่างไรก็ตามวิธีการตรวจสอบที่ผู้สอบบัญชีภาษีอากรเลือกใช้ในการตรวจสอบและรับรองบัญชีของแต่ละกิจการ จะต้องรวมถึง การขอข้อมูลจากธนาคาร การขอยืนยันยอดลูกหนี้เจ้าหนี้ การขอยืนยันการออกใบกำกับภาษี การเข้าสังเกตการณ์การตรวจนับสินค้าคงเหลือ และการตรวจสอบเอกสารสิทธิต่างๆ เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยไม่สามารถใช้วิธีการดังกล่าวได้ ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องใช้วิธีอื่นที่ให้ความเชื่อมั่นเช่นเดียวกันและอยู่ในวิสัยที่สามารถกระทำได้

3. การทดสอบการจัดทำงบการเงิน ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องทำการทดสอบการจัดทำงบการเงินของกิจการให้ครอบคลุมถึงเรื่องดังต่อไปนี้
3.1 ความเพียงพอของการเปิดเผยข้อความและรายการในงบการเงินและหมายเหตุประกอบงบการเงินอันจะไม่ทำให้ผู้ใช้งบการเงินเกิดการหลงผิดในฐานะการเงิน หรือผลการดำเนินงานของกิจการ
3.2 การจัดทำงบการเงินถูกต้องตามกฎหมายบัญชีที่เกี่ยวข้องเพียงใด
3.3 ความเหมาะสมของการจัดประเภทรายการต่าง ๆ ซึ่งแสดงไว้ในงบการเงิน โดยจะต้องไม่ละเอียดหรือย่นย่อจนเกินสมควร
3.4 งบการเงินที่ตรวจสอบสะท้อนให้เห็นผลของเหตุการณ์หรือรายการดังที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมและยอมรับได้เพียงใด ซึ่งหมายถึงงบการเงินนั้นแสดงฐานะการเงิน ผลการดำเนินงานของกิจการอย่างสมเหตุสมผลตรงต่อความจริงและดีที่สุดเท่าที่นักบัญชีจะปฏิบัติได้ในการจัดทำงบการเงินแล้วหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่มีสาระสำคัญ

4. การตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด เช่น ความถูกต้องครบถ้วนของใบกำกับภาษีที่กิจการออก การจัดทำทำบัญชีพิเศษ และการจัดทำรายงานภาษีต่าง ๆ

5. การตรวจสอบการปรับปรุงกำไรสุทธิ/ขาดทุนสุทธิทางบัญชีเป็นกำไรสุทธิ/ขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีอากร
ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องตรวจสอบนโยบายบัญชีของกิจการกับหลักเกณฑ์ทางด้านภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร เช่น มาตรา 65 ทวิ มาตรา 65 ตรี มาตรา 70 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร พระราชกฤษฎีกา พระราชกำหนด กฎกระทรวง ประกาศและคำสั่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ แล้วดำเนินการ ดังนี้
5.1 ตรวจสอบหาความแตกต่างระหว่างนโยบายบัญชีของกิจการกับหลักเกณฑ์ทางด้านภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร
5.2 ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของการปรับปรุงรายการตาม 5.1 เพื่อยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ของกิจการ

6. การทดสอบรายการในแบบแจ้งข้อความ
ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องเน้นทดสอบรายละเอียดตามรายการที่ปรากฏในแบบแจ้งข้อความของกรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้จัดการ ในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50)

7. การเปิดเผยข้อเท็จจริง
ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญของบัญชี และแจ้งพฤติการณ์ไว้ในรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีที่ตนจะต้องลงลายมือชื่อรับรองในกรณีที่พบว่ากิจการนั้นมีพฤติการณ์ในการทำเอกสารประกอบการลงบัญชีหรือลงบัญชี โดยที่เห็นว่าน่าจะไม่ตรงกับความเป็นจริง

No comments: